วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มารู้จักภาษาอาหรับ

มารู้จักภาษาอาหรับ


จากรายการโลกมุสลิม สถานีวิทยุสราญรมย์
ดำเนินรายการโดย คุณณัฐสุดา เมตตาประเสริฐ


ภาษาอาหรับเป็นภาษาที่คนในภูมิภาคตะวันออกกลางใช้สื่อสารกันโดยทั่วไปและเป็นภาษาทางราชการของหลายประเทศในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่ากลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ยังมีชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่น ๆ นอกเหนือจากศาสนาอิสลาม เช่น ศาสนาคริสต์ ที่อียิปต์นับถือศาสนาคริสต์นิกายคอปติก รวมถึงศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและโปรแตสแตนท์ซึ่งนับถือกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ถึงแม้ว่าคนในภูมิภาคตะวันออกกลางจะมีเชื้อสายและนับถือศาสนาแตกต่างกัน แต่คนในภูมิภาคตะวันออกกลางใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร แม้กระทั่งชาวเคิร์ดในอิรักและชาวคอปติกในอียิปต์
ภาษาอาหรับนอกจากจะถือว่าเป็นภาษาสากลที่ใช้ในการสื่อสารในภูมิภาคตะวันออกกลางแล้ว ยังถือเป็นภาษาที่ศาสนาอิสลามใช้เป็นภาษาในคัมภีร์อัลกุรอ่าน เพราะฉะนั้นภาษา
อาหรับจึงเป็นภาษาที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วย
อาจถือได้ว่าภาษาอาหรับแบ่งออกหลัก ๆ 2 ประเภท
1. ภาษาอาหรับคลาสสิกหรือ ภาษาทางราชการ รู้จักกันในภาษาอาหรับเรียกว่า ภาษาฟุสฮะฮ ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน หนังสือพิมพ์ ราชการทั่วไป และใช้ในชีวิตประจำวัน
2. ภาษาพูดหรือภาษาที่รู้จักกันในภาษาอาหรับว่า ภาษาอามซึ่งใช้กันทั่วไปสำหรับสื่อสารในชีวิตประจำวันและมีสำเนียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง
ภาษาอาหรับอียิปต์ (ภาษาอามของอียิปต์)
มีคนสื่อสารภาษาอาหรับอียิปต์ถึง 77 ล้านคน ในอียิปต์ และเป็นสำเนียงที่มีคนเข้าใจมากที่สุด เนื่องจากภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ของอียิปต์ค่อนข้างมีอิทธิพลและได้รับความนิยมในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะชาวอาหรับในโมร็อกโก ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และบาห์เรน จะได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมอียิปต์ผ่านทางภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ของอียิปต์ ภาษาที่ใช้ในภาพยนตร์จะใช้ภาษาอาหรับอียิปต์ซึ่งทำให้ผู้ที่รับชมในภูมิภาคตะวันออกกลางได้เรียนรู้ภาษาอาหรับอียิปต์ไปด้วย จึงทำให้ภาษาอาหรับอียิปต์เป็นภาษาที่มีคนเข้าใจมากที่สุดสำเนียงหนึ่ง
ภาษาอาหรับสำเนียงมักเรบ (Maghrib)
ภาษาอาหรับสำเนียงมักเรบใช้สื่อสารบริเวณแอลจีเรีย โมร็อกโก ตูนีเซีย และลิเบีย ด้วยเหตุที่ภาษาอาหรับสำเนียงมักเรบไม่ค่อยได้นำออกมาเผยแพร่ผ่านทางภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ให้คนในตะวันออกกลางได้รับชมมากเหมือนอียิปต์ ส่งผลให้ชาวอาหรับที่อาศัยอยู่บริเวณอื่น ๆ จะไม่ค่อยเข้าใจภาษาอาหรับสำเนียงมักเรบ นอกจากนี้ภาษาอาหรับสำเนียงมักเรบเป็นภาษาที่มีการผสมผสานกับภาษาฝรั่งเศส เนื่องจากประเทศแอลจีเรีย โมร็อกโก และตูนีเซีย ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสและเคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
ภาษาอาหรับสำเนียงเลอวานต์ (Levant)
ภาษาอาหรับสำเนียงเลอวานต์ใช้สื่อสารในกลุ่มประเทศซีเรีย เลบานอน ปาเลสไตน์ และจอร์แดน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นอกจากนี้ภาษาอาหรับสำเนียงเลอวานต์เป็นภาษาที่หลายคนชื่นชมว่าเป็นสำเนียงที่มีความไพเราะ นอกจากนี้นักร้องที่มาจากกลุ่มเลอวานต์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น Nancy Arjam เป็นนักร้องหญิงที่ได้รับการชื่นชมและชื่นชอบเป็นอย่างมาก
ภาษาอาหรับตะวันออก (กลุ่ม GCC)
ภาษาอาหรับตะวันออกเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารในกลุ่มประเทศแถบ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ เยเมน และบาห์เรน เป็นสำเนียงที่มีความไพเราะ ถึงแม้จะไม่ไพเราะเท่าภาษาอาหรับสำเนียงเลอวานต์
ในโลกปัจจุบันภาษาอาหรับเป็นภาษาที่มีคนใช้ค่อนข้างมาก นอกจากเป็นภาษาของศาสนาอิสลามแล้ว ยังเป็นภาษาที่หลายประเทศใช้เป็นภาษาทางราชการ ซึ่งมีสำเนียงแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคในตะวันออกกลาง
เพราะฉะนั้นการสื่อสารด้วยภาษาอาหรับจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถใช้บ่งบอกถึงสัญชาติของคนในตะวันออกกลางได้
วิธีดูความแตกต่างของคนในภูมิภาคตะวันออกกลาง
1. ในกรณีที่เป็นบุคคลที่สามารถสื่อสารหรือมีความเข้าใจในภาษาอาหรับ หรือบุคคลที่มีความคุ้นเคยในภาษาอาหรับสามารถสังเกตจากการพูดภาษาและสำเนียงการพูดภาษาอาหรับ ซึ่งมีลักษณะของสำเนียงที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ เช่นคนอียิปต์จะออกเสียงตัว กีน ว่า กีน ในขณะที่คนทางด้านเลอวานต์จะออกเสียงตัว กีน ว่า จีนคำว่า มหาวิทยาลัยภาษาอาหรับอียิปต์ออกเสียงว่า แกม-มี-อะห์ ในขณะที่ ภาษาอาหรับสำเนียงเลอวานต์ออกเสียงว่า เชอ-มี-อะห์ เพราะฉะนั้นสำเนียงการพูดภาษาอาหรับเป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถใช้บ่งบอกถึงความแตกต่างของคนแต่ละประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง
2. ในกรณีของคนที่ไม่มีความเข้าใจในภาษาอารบิกสามารถสังเกตจากลักษณะรูปร่างภายนอก ชาวอาหรับในแต่ละประเทศจะมีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ชาวอียิปต์ หรือ ชาวอาหรับทางตอนเหนือที่ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจะได้รับการขนานนามว่าเป็นแขกขาว คนอียิปต์ ลิเบีย แอลจีเรีย ตูนีเซีย โมร็อกโก จะมีลักษณะรูปร่างสูงใหญ่เหมือนชาวยุโรป ขณะเดียวกันก็ยังคงมีลักษณะที่บ่งบอกถึงความเป็นอาหรับ คือ มีผมสีดำ ดวงตาค่อนข้างใหญ่ และมีเชื้อสายจากฝรั่งเศสจำนวนมาก เนื่องจากสมัยก่อนชาวฝรั่งเศสอพยพเข้ามายังแอลจีเรีย โมร็อกโก และตูนีเซีย แล้วแต่งงานกับชนเมืองหลายคู่ ส่งผลให้ผู้คนในแถบประเทศแอลจีเรีย โมร็อกโก และตูนีเซีย มีลักษณะเป็นชาวแขกขาวและมีรูปร่างสูงใหญ่เหมือนชาวยุโรป ในขณะที่ชาวอาหรับแถบอ่าว เช่น ประเทศซาอุดีอาระเบียจะมีรูปร่างเล็กลง มีความเป็นเอเชียค่อนข้างมาก ลักษณะไม่สูงใหญ่เท่ากับชาวอาหรับแถบกลุ่มประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน ตัวไม่สูงมากและมีลักษณะค่อนข้างผอม นอกจากนี้มีกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชาวอาหรับแต่อาศัยอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง คือ ชาวเปอร์เชียและชาวเคิร์ด มีลักษณะค่อนข้างคล้ายทางอียิปต์ คือ มีรูปร่างสูง ผิวขาวมาก คนเปอร์เชีย หรือ อิหร่าน จะพูดภาษา ฟาร์ซี
ภาษาอาหรับมีความสำคัญทางภูมิภาคตะวันออกกลางและสามารถบ่งบอกได้ว่าคนอาหรับที่เรากำลังคุยอยู่มาจากส่วนไหนของภูมิภาคตะวันออกกลาง นอกจากนี้ภาษาอาหรับยังมีอิทธิพลอย่างมากในโลกของอิสลาม และเป็นแหล่งของคำศัพท์ที่ใช้ในภาษาเบอร์เบอร์ ภาษาเคิร์ด ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอูรดู ภาษาฮินดี ภาษามาเลเซีย และภาษาอินโดนีเซีย เพราะฉะนั้นอิทธิพลของภาษาอาหรับต่อภาษาอื่น ๆ จึงมีค่อนข้างมาก
นอกจากภาษาอาหรับเป็นภาษาที่มีอิทธิพลต่อภาษาอื่นแล้ว เนื่องจากภาษาอาหรับเป็นภาษาของศาสนาอิสลาม เพราะฉะนั้นหลายคนถึงแม้ไม่ได้เรียนภาษาอาหรับตั้งแต่เด็ก ๆ หรือไม่ได้มีพ่อแม่เป็นชาวอาหรับ ก็พอจะพูดภาษาอาหรับได้เนื่องจากเป็นคนมุสลิม เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้วคนมุสลิมทั่วไปจึงสามารถพูดภาษาอาหรับได้บางคำ หรือ คำที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ถูกกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาษาของเขาแล้ว เช่น คำว่า อัสลามมูอาลัยกุม ซึ่งแปลว่า สวัสดี หรือแปลตามตัวว่า Peace be upon you” ซึ่งเป็นคำที่ชาวมุสลิมทั่วไปหรือชาวตะวันออกกลางใช้อยู่ตลอดเวลา
นอกจากภาษาเบอร์เบอร์ ภาษาเคิร์ด ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอูรดู ภาษาฮินดี ภาษามาเลเซีย และภาษาอินโดนีเซียที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาอาหรับแล้ว ภาษาอังกฤษยังเป็นภาษาที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาอาหรับเช่นเดียวกัน เช่น คำว่า “sugar” มาจากคำว่า ซุ-การ์ในภาษาอาหรับ หรือแม้กระทั่งคำว่า magazine” แมกกาซีน ก็ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาอาหรับเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นภาษาอารบิกจึงเป็นภาษาที่มีอิทธิพลและใช้กันอย่างกว้างขวาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น